Design Management คืออะไร ?
- midkit
- 30 มี.ค. 2563
- ยาว 2 นาที
อัปเดตเมื่อ 30 ม.ค. 2567
เมื่อ “การออกแบบ“ ในปัจจุบันไม่ได้ถูกนิยามเพียงแค่แง่มุมเกี่ยวกับ “ความงาม“ อย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ แต่กลับมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นในเชิงของการเป็น "กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์"
“Design describes both the process of making things (designing), and the product of this process (a design).” - Kathryn Best
ทุกวันนี้ธุรกิจและองค์กรมากมายต่างมุ่งเน้นที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่องบนโลกแห่งการแข่งขัน เห็นได้ชัดว่าตลอดหลายปีที่ผ่านมามีแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับการทำธุรกิจเกิดขึ้นอย่างมากมาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ถูกคิดค้นเพื่อสร้างสรรค์ให้เกิด “ สิ่งที่ดีกว่า “ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น, การรับรู้และตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคอย่างตรงจุด ไปจนถึงการสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันที่มากกว่า สำหรับ Design Management ก็เช่นกัน นับเป็นหนึ่งในศาสตร์การบริหารจัดการที่น่าสนใจและเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาธุรกิจยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
”Design Management” คืออะไร
Design Management แท้จริงแล้วคือ
“การบริหารจัดการเชิงออกแบบ“ บนโลก “ธุรกิจ“
ถ้าพูดให้เห็นภาพง่ายๆ “Design Management“ เปรียบเสมือนการเป็น “วาทยากร” ผู้เข้าใจทั้งภาษาของ ”การออกแบบ“ และ “การทำธุรกิจ” ซึ่งมีหน้าที่ “วางกลยุทธ์และจัดการ“ กระบวนการออกแบบให้สอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อผลักดันให้เกิดผลผลิตเชิง “นวัตกรรมสร้างสรรค์“ และ “การทำงานที่มีประสิทธิภาพ“
ใช้หลัก ” Design Thinking ” เป็นกระบวนการขับเคลื่อน
เชื่อว่ามีใครหลายคนที่คุ้นเคยกับ “แนวคิดเชิงออกแบบ“ หรือ “Design Thinking“ กันพอสมควร
ซึ่งก็คือ “กระบวนการคิดเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ด้วยการออกแบบ“ โดยในศาสตร์การบริหารจัดการเชิงออกแบบนั้น เราประยุกต์ใช้ “Design Thinking“ เป็นเครื่องมือหลักของการดำเนินงาน
ซึ่งหากเปรียบเทียบกระบวนการบริหารจัดการเชิงออกแบบ (Design Management) เป็นการดำเนินงานในลักษณะครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำของโครงการใดโครงการหนึ่ง ในระยะต้นน้ำจะเป็นการใช้องค์ความรู้เชิงธุรกิจในการ “ถอดหรัสความชัดเจน“ ของโจทย์และปัจจัยแวดล้อมที่ส่งเสริมความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการนั้นๆ ถัดมาระยะกลางน้ำจะใช้กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ในการ “ออกแบบกลยุทธ์“ ที่ช่วยดึงศักยภาพสูงสุดของมิติธุรกิจและการออกแบบเพื่อสร้างแผนงานสำหรับการแก้ไขปัญหาหรือสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ สุดท้ายระยะปลายน้ำจะทำหน้าที่ช่วย “ควบคุม“ การดำเนินงานออกแบบทั้งหมดให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้นั่นเอง
”ทำไม” Design Management จึงกลายเป็น
หนึ่งใน ”กลยุทธ์สู่ความสำเร็จ” ของธุรกิจยุคใหม่
ปัจจุบัน “Design Management“ ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนจัดการและการดำเนินงานของบริษัทและองค์กรชั้นนำระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Apple, IBM, Nike, Starbucks ไปจนถึง Walt Disney พวกเขาใช้แนวคิดการออกแบบเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาศักยภาพทางธุรกิจ (Design-Centric) เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจากผลการศึกษาของสถาบันบริหารจัดการด้านการออกแบบ (DMI - Design Management Institute) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าในช่วงเกือบทศวรรษที่ผ่านมา ผลตอบแทนทางการลงทุนในกลุ่มบริษัทและองค์กรที่ประยุกต์ใช้ “การบริหารธุรกิจด้วยการออกแบบ“ มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทิ้งห่างกลุ่มบริษัทและองค์กรใหญ่ๆที่มีรูปแบบการบริหารจัดการแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยยะสำคัญ*
ในทำนองเดียวกัน เมื่อหันกลับมามองบทบาทของ “Design Management“ ในประเทศไทย จะพบว่ามีองค์กรชั้นนำจำนวนไม่น้อยเลยที่ได้ผสมผสานการใช้ศาสตร์ดังกล่าวเข้ามาในการบริหารธุรกิจให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น SCG, SCAsset, SCB, KBank และอื่นๆอีกมากมาย สิ่งเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นถึง “วิถีใหม่ของการจัดการธุรกิจอย่างสร้างสรรค์“ ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต
เริ่มอยากรู้แล้วใช่ไหมว่า “Design Management“ ช่วยสร้าง “ผลลัพธ์ที่น่าทึ่ง“ ให้กับธุรกิจอย่างไรบ้าง จากประสบการณ์ทำงานและการเป็นที่ปรึกษาของเราสามารถแสดงผ่าน “คุณค่า 6 มิติ“ ดังนี้
1. ช่วยขับเคลื่อนให้เกิดกลยุทธ์เชิงนวัตกรรม
วิถีการบริหารจัดการดังกล่าวผลักดันให้เกิดการสร้าง “นวัตกรรมทางความคิด“ (Innovative Solution) ผ่าน ”กลยุทธ์ทางการออกแบบ” (Design Strategy) ที่เสริมสร้าง “ความพิเศษ“ ให้กับจุดขายและข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน (Unique Selling Point) พร้อมทั้งเข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพให้กับกลยุทธ์ธุรกิจมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่มิติของการสร้างโมเดลธุรกิจรูปแบบใหม่, การแก้ปัญหาหรือพัฒนาการออกแบบสินค้าและบริการ, ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่น่าประทับใจแก่ผู้บริโภค
2. สร้างความมั่นใจทางการลงทุน แสดงให้เห็นภาพจำลองตัวอย่างผลลัพธ์ที่สร้างสรรค์
ด้วยศักยภาพของการเป็น “นักวางกลยุทธ์“ และ “นักออกแบบ“ ทำให้สามารถวิเคราะห์ “ความเป็นไปได้ในการพัฒนาโครงการ“ อีกทั้งยังสามารถถ่ายทอดแนวความคิดและการสื่อสาร “ตัวอย่างผลลัพธ์ที่คาดหวัง“ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยลดความเสี่ยงและเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับการตัดสินใจในการลงทุนมากยิ่งขึ้น
3. ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าอย่างตรงจุดผ่านเลนส์การออกแบบ
การยึดหลัก ”ผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง” (Human-Centric) ในกระบวนการดำเนินงานและการออกแบบทั้งหมด ทำให้เกิด ”การทำความเข้าใจเชิงลึก” ในกระบวนการแก้ไขปัญหา (Empathy) ซึ่งส่งผลทำให้สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ตอบสนองต่อความต้องการและมอบคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4. จัดการและรักษาสมดุลของกระบวนการดำเนินงาน
จากความเข้าใจในศาสตร์ผสมผสานทั้ง ”การออกแบบ” และ ”การทำธุรกิจ” ทำให้มีหน้าที่เสมือนเป็น ”คนกลาง” ที่คอยเชื่อมโยง, วางแผน และควบคุมเพื่อให้กระบวนการดำเนินงานออกแบบเกิดความราบรื่นตลอดทั้งโครงการ และยังช่วยส่งเสริม ”แนวทางในการทำงานร่วมกัน” (Co-creation) ของกลุ่มคนในองค์กรไปจนถึงกลุ่มลูกค้าอีกด้วย
5. สร้างแผนงานการออกแบบที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การทำธุรกิจ
จากการประมวลผลเชิงกลยุทธ์ของการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล ส่งผลทำให้เกิดการสร้าง ”แผนงานที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพ” ตอบโจทย์ทั้งในแง่ความต้องการของกลุ่มลูกค้า, สอดคล้องกับศักยภาพของธุรกิจและการลงทุนโครงการ เพื่อนำแผนดังกล่าวนี้ส่งมอบให้กับทีมนักออกแบบต่อไป
6. ปลูกฝังหลักการคิดและการจัดการอย่างสร้างสรรค์เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน
หากประยุกต์ใช้ ”หลักการบริหารจัดการเชิงออกแบบ” ด้วยความเข้าใจและเหมาะสมกับรูปแบบการทำงานขององค์กรจะช่วยหล่อหลอมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ในการเป็น ”ผู้นำทางความคิด” (Leadership & Visionary) ซึ่งส่งผลดีต่อการจัดการและการเติบโตขององค์กรในระยะยาว
เราจะประยุกต์ใช้ ”Design Management” ได้อย่างไรบ้าง
จากที่กล่าวมา หลายคนคงได้ทำความรู้จักกับ ”Design Management” ไม่มากก็น้อย ซึ่งศาสตร์การจัดการดังกล่าวส่วนใหญ่มักถูกนำไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มบริษัทและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสายงานด้านการออกแบบและการผลิตคิดค้นเชิงนวัตกรรม โดยสามารถบรรจุหรือผสมผสานอยู่ในภาคส่วนของการดำเนินงานได้หลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านการบริหารจัดการ, วางแผนกลยุทธ์และการตลาด ไปจนถึงภาคส่วนของการควบคุมทิศทางการออกแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทของการนำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับองค์กรธุรกิจนั้นๆ
สุดท้ายนี้ เราเชื่อว่า ...
”Design Management” จะกลายเป็น ”ทางเลือกใหม่” ที่ช่วยผลักดันขีดจำกัดความสามารถทางการออกแบบและส่งเสริมการขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างสรรค์บนเป้าหมายของการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มศักยภาพในอนาคต
อ้างอิง (References)
Best, K. (2015) Design Management: Managing Design Strategy, Process and Implementation. 2nd edn. London: Bloomsbury Publishing Plc.
Design Management Institute (2009) ‘What is Design Management ?’. Available at: https://www.dmi.org/page/What_is_Design_Manag (Accessed: 2 October 2021).
Design Management Institute (2016) ‘Design Value Index Results and Commentary’. Available at: https://www.dmi.org/page/2015DVIandOTW/2015-dmiDesign-Value-Index-Results-and-Commentary.htm (Accessed: 2 October 2021).
#การบริหารจัดการเชิงออกแบบ
#การจัดการออกแบบ
#มิตรคิด
Comments